สถานี่วิทยุออนไลน์ เสียงจากพวกเราชาวเชียงตุง

เจอกันทุกวันตั้งแต่เวลา ๒๐.๐๐ น. เป็นต้นไปนะครับ....

Try Relay: the free SMS and picture text app for iPhone.

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

สงกรานต์เชียงตุง

มารู้จักเชียงตุงกันก่อน
เมือง เชียงตุง หรือในชื่อ เขมรัฐนครเชียงตุง นครรัฐที่เคยรุ่งเรื่องเคียงคู่กับนครพิงศ์เชียงใหม่ในอดีต ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉาน สหภาพพม่า เชียงตุงได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่ง ๓จอม ๗เชียง ๙หนอง ๑๒ประตู ซึ่งจอมก็คือเนินเขา อันเป็นการบ่งบอกถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเมืองแห่งนี้ว่าเป็นที่ราบหุบเขา ลักษณะเดียวกับเมืองอื่นๆในล้านนา เช่นเชียงใหม่เป็นต้น เมืองเชียงตุงถูกขนาบข้างด้วยแม่น้ำสาละวินทางตะวันตก และแม่น้ำโขงทางตะวันออก อยู่ห่างจากด่านชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ๑๖๕ กิโลเมตร เส้นทางเป็นถนนลาดยางตลอดสาย แต่ด้วยหนทางที่คดเคี้ยวลาดชัน จึงต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔ชั่วโมงสำหรับรถทั่วไป และ ๕-๖ ชั่วโมงสำหรับรถบัสโดยสาร ผู้คนส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นชาวไทเขิน ซึ่งใช้ภาษาที่มีความคล้ายคลึงกับภาษาเหนือของล้านนา ดังนั้นจึงไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่นักสำหรับคนไทยในการสื่อสารกับผู้คนที่เมือง เชียงตุง
เริ่มต้นเดินทาง
สำหรับ เดินทางในครั้งนี้ของผม ตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี ซึ่งก็ถือว่าเป็นการประจวบเหมาะที่จะได้ไปร่วมประเพณีสงกรานต์ของชาวเชียง ตุง ในตอนแรก ผมคิดไว้ว่าจะไปกับทัวร์ เพราะเคยได้ยินว่า การเข้าประเทศพม่าทางด้านท่าขี้เหล็ก แล้วต่อไปเชียงตุงค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะถ้าเอารถวิ่งเข้าไปเอง แต่พอลองหาข้อมูลจริงจากผู้มีประสบการณ์ ก็ได้ข้อสรุปที่ว่า ไม่ควรนำรถเข้าไปเอง แต่ยังไงก็สามารถเดินทางไปเองได้โดยจ้างรถแท็กซี่จากท่าขี้เหล็กเข้าเชียง ตุง อีกอย่างคือด้วยความที่สมาชิกแต่ละคนต้องการประหยัดงบ สรุปสุดท้ายจึงออกในรูปของการลุยกันเองอีกแล้วครับท่าน
สมาชิก ร่วมเดินทางครั้งนี้ ในตอนแรกมีจำนวนมากจนเกือบต้องจ้างรถตู้กันซะแล้ว แต่พอใกล้วันเดินทางเข้า จำนวนก็ค่อยๆลด ค่อยหาย จนสุดท้ายเหลือกันอยู่แค่สี่คนเท่านั้น คือผม พี่ฟ้อง พี่ตุ๊ก แล้วก็ขาว เราออกเดินทางโดยรถเก๋งของพี่ฟ้องตอนหัวค่ำของวันที่ ๑๑ อันเป็นวันที่ถนนทุกสายที่มุ่งหน้าออกจากกรุงเทพฯต้องแน่นเอี๊ยดไปด้วยรถ นานาชนิด ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้น กว่าที่จะเดินทางไปถึงนครสวรรค์นาฬิกาก็บอกวันใหม่เข้าไปแล้ว ดังนั้นจากแผนเดิมที่จะไปแวะค้างกันก่อนที่จังหวัดตาก จึงต้องพับไป เลยใช้วิธีค่อยๆเปลี่ยนกันขับไปเรื่อยๆจนไปถึงด่านแม่สายเอาเที่ยงของวันที่ ๑๒ เมษายน
อัน ที่จริงทริปนี้ต้องยอมรับว่าหาข้อมูลมาน้อยมากๆ แค่รู้คร่าวๆว่าต้องทำอย่างไรบ้างในการผ่านเข้าด่าน เรื่องที่เที่ยวก็มีแค่หนังสือหนึ่งเล่มติดตัวไปเท่านั้น เราแวะทำบัตรผ่านแดนที่อำเภอแม่สายก่อน ก่อนที่จะไปหาที่ฝากรถกันตรงด่านชายแดน จ่ายเงินค่าฝากรถสำหรับสามคืนแล้วก็ต่างคนต่างเตรียมข้าวของของตัวเองเพื่อ มุ่งหน้าผ่านด้านเข้าไปยังท่าขี้เหล็ก สำหรับการผ่านด่านในฝั่งไทยไม่ยุ่งยากนักถึงแม้จะเป็นช่วงเทศกาล เพราะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้ พี่ที่เป็นตม.ตอนแรกนึกว่าพวกเราเป็นญี่ปุ่น เพราะสภาพของพวกเราที่หิ้วเป้กันพะรุงพะรังต่างจากนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ ที่มักเดินตัวเปล่าจะข้ามไปแค่ท่าขี้เหล็กเพื่อช็อปปิ้งเท่านั้น
ต่อ มาจึงเป็นขั้นตอนการเข้าเมืองพม่าแล้ว ถ้าเราต้องการไปแค่ท่าขี้เหล็ก ก็แค่เอาใบผ่านด่านไปแสดงแล้วเสียค่าธรรมเนียม ๑๐ บาทก็เรียบร้อย แต่สำหรับพวกเราที่ต้องการเข้าไปยังเชียงตุง ต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ตม.ของทางฝั่งพม่า ซึ่งจากทั้งข้อมูลที่หามาล่วงหน้า และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ เราต้องไปหาแท็กซี่ที่จะพาเราไปส่งเชียงตุง แล้วให้คนขับมาเซ็นชื่อรับรองรวมถึงเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ระหว่างทาง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผมกับขาวที่ต้องผ่านเข้าไปฝั่งท่าขี้เหล็กก่อน ปล่อยให้พี่ตุ๊กกับพี่ฟ้องคอยเฝ้ากระเป๋าอยู่ตรงด่าน
กว่าจะได้ไปเชียงตุง ก็แทบถอดใจ
พอ เข้ามาถึงฝั่งท่าขี้เหล็ก ความรู้สึกตอนไปเสียมเรียบก็กลับมาอีกครั้ง เพราะพวกเราโดนรุมไปด้วยคนขับรถตุ๊กๆที่มาเสนอรถเที่ยวท่าขี้เหล็ก แต่พอบอกว่าจะไปเชียงตุง ส่วนใหญ่ก็จะเสนอให้นั่งตุ๊กๆไปที่ท่ารถเพื่อต่อรองกับคนขับ บางคนก็เสนอแท็กซี่มาด้วยราคาที่เกือบช็อก คือ ๘๐๐๐ บาท สำหรับการเดินทางไปเชียงตุง ตอนนั้นก็คุยกับขาวว่า ถ้า ๘๐๐๐ กลับไปเที่ยวเมืองไทยดีกว่า
ขณะ นั้นผมโทรกลับไปหาพี่ตุ๊กให้ลองถามเจ้าหน้าที่ว่าจริงหรือไม่ที่เราต้องไป ติดต่อแท็กซี่ที่ท่ารถ พอได้คำตอบว่าจริงอย่างที่บรรดาคนขับตุ๊กๆบอก ผมกับขาวก็เลยนั่งตุ๊กๆไปกันสองคน สองข้างทางที่จะมุ่งตรงไปยังท่ารถ เต็มไปด้วยวัยรุ่นที่เล่นสงกรานต์กันสนุกสนาน ดังนั้นพวกเราสองจะเหลือหรือครับ เรียกว่าเปียกกันทั้งตัว จนต้องให้คนขับหยุดรถไปขอถุงพลาสติกแม่ค้ามาใส่กระเป๋าตังส์เลย
มา ถึงท่ารถก็เห็นแท็กซี่เก่าๆจอดอยู่สามคัน มีคนขับสองคนเดินออกมาคุยด้วย คนหนึ่งเปิดราคามาที่ ๖๐๐๐บาท พูดอย่างไรก็ไม่ยอมรถ ซักพักมีรถอีกคันเลี้ยวเข้ามาจอด ขาวเลยได้ที เดินเข้าไปถามคนขับ ซึ่งก็ได้คำตอบมาทันที่ว่า ๓๐๐๐ บาท ตอนนั้นทั้งคนขับตุ๊กๆ ทั้งคนขับแท็กซี่ที่เดินมาก่อนก็มองกันเลิกลั่ก แล้วคุยกันภาษาพม่ากันซักพัก คนขับตุ๊กๆก็มาบอกว่า ตกลง ๓๐๐๐ แต่เป็นคนขับอีกคนหนึ่ง ซึ่งสำหรับพวกเราแล้ว จะเป็นใครก็ช่างของให้ได้ราคานี้ก็พอ
จัดการ เรื่องต่อรองเรียบร้อย เราก็นั่งรถแท็กซี่กลับมาที่ด่านท่าขี้เหล็กเพื่อรับสาวๆทั้งสองคน สำหรับพิธีการผ่านด่านคือ พวกเราต้องทิ้งบัตรประชาชนไว้ที่ตม. แล้วเสียค่าธรรมเนียม พร้อมรูป ๑ นิ้ว ๓รูป หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะออกใบผ่านแดนให้กับคนขับแท็กซี่ ซึ่งคนขับต้องไปทำการซีร็อกเอกสารประมาณ ๒๕ ชุดเพื่อเตรียมไว้ส่งให้ตามด่านตรวจระหว่างทาง ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้คนขับแท็กซี่จะเป็นคนดำเนินการให้ทั้งหมด
เป็น เวลาบ่ายสามแล้ว กว่าที่จะได้ออกรถกันซะที ถนนที่พาเราสู่เชียงตุง เป็นถนนลาดยางอย่างดี ลัดเลาะไปตามหุบเขาคดเคี้ยว บางครั้งก็ผ่านทุ่งนาเขียวขจี รถเราต้องหยุดเป็นพักๆ เพื่อผ่านด่านตรวจ ซึ่งคนขับต้องเอาเอกสารการเข้าเมืองของพวกเราไปส่ง รวมถึงจ่ายค่าธรรมเนียม (ส่วนนี้ทางคนขับเป็นคนจ่ายทั้งหมด)
พอ รถเข้าเขตเมืองเชียงตุงฟ้าก็เริ่มมืดแล้ว วันนี้เราตรงไปยังเกสเฮ้าส์ที่จองเอาไว้ นั่นคือ Harry Guesthouse ที่อยู่นอกเมืองไปเล็กน้อย พี่สาวที่เป็นเจ้าของเกสเฮ้าส์สามารถสื่อสารกับพวกเราได้อย่างไม่มีปัญหา ด้วยภาษาไทย ที่ออกไปทางคำเมือง นอกจากนี้ยังเสนอพาพวกเราไปส่งที่กลางเมืองเพื่อเที่ยวตลาดกลางคืนอีกด้วย ก่อนที่จะเดินทางออกจากเกสเฮ้าท์ เราก็เห็นพนักงานของเกสเฮ้าท์ เตรียมขนมต่างๆใส่เป็นจานๆไว้ ก่อนที่จะเอ่ยปากถามก็พลันมีแขกที่เป็นเด็กๆและวัยรุ่นเข้ามาเต็มไปหมด แล้วทุกคนก็ร่วมกันร้องเพลงอวยพรปีใหม่เป็นภาษาไทยใหญ่ (ผมฟังออกแต่คำว่า สวัสดีปี๋ใหม่เมือง ครับ) ก่อนที่เจ้าของบ้านจะนำขนมมาจ่ายแจกพร้อมกับร่วมทำบุญให้กับคณะที่มาเยือน ซึ่งกลุ่มเด็กๆเหล่านี้ก็จะแวะเวียนไปตามบ้านต่างๆเพื่อร้องเพลงอวยพร ซึ่งนับเป็นสิ่งที่แปลกแล้วก็ตื่นตาตื่นใจสำหรับพวกเราที่ไม่เคยเห็นอะไรแบบ นี้มาก่อน
ท่องเชียงตุงยามค่ำ กับงานกลางคืนที่ไม่มีให้เห็นบ่อยนัก
ที่ เมืองเชียงตุง ไม่ได้มีตลาดกลางคืนเหมือนกับที่เชียงใหม่หรือหลวงพระบางแต่อย่างใด แต่เนื่องด้วยคืนนี้เป็นคืนพิเศษ คือมีการตีกลองฉลองก่อนวันปีใหม่ จึงมีงานขึ้นที่กลางเมืองใกล้วัดเชียงจันทร์ ลักษณะงานก็คล้ายๆกับงานวัดบ้านเรา บรรยากาศทั่วไปก็มีการขายของกินสองข้างทาง ผู้คนส่วนใหญ่จะนำน้ำใส่ขันมาจากบ้านเพื่อมาสรงกลองที่มีการตีฉลองกันตลอด คืน เพื่อเตรียมตัวแห่ไปรอบเมืองในวันรุ่งขึ้น สำหรับการแห่กลองมีประวัติว่า เมื่อ พ.ศ.1771 นครเชียงตุงเกิดความแห้งแล้ว ประชาชนล้มตาย เพราะอดข้าวอดน้ำ พญาแก้วมธุ เจ้าปกครองเมืองเชียงตุงในสมัยนั้น จึงเรียกหมอดูดวงชะตา ชื่อ อุตตมะ มาดูดวงเมือง ก็รู้ว่าเชียงตุงนี้เป็นนามจันทร์ ต้องทำพิธีปั้นรูปกบหนึ่งตัว ในปากกบนั้นปั้นรูปพระจันทร์หนึ่งดวง ถ้าถึงวันสงกรานต์ ให้ก่อเจดีย์ทรายที่ฝั่งแม่น้ำเขิน ด้านเหนือของเมืองเชียงตุง แล้วให้ขุนสงกรานต์ขี่ม้า แห่กลองไปจนถึงแม่น้ำเขิน ที่ปั้นรูปกบและก่อเจดีย์ทรายไว้ แล้วจึงปล่อยรูปปั้นกบไหลไปตามแม่น้ำเขิน หลังจากประกอบพิธีกรรมนี้ ฝนก็เทลงมาอย่างอัศจรรย์ ไร่นาชุ่มชื่น กลับมาอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวเมืองเชียงตุงก็ประกอบพิธีตามประเพณีนี้เรื่อยมาจนทุกวันนี้
พวก เราก็เดินเล่นกันไป หาของกินกันไปพลาง อากาศที่เชียงตุงไม่ร้อนมากเหมือนกรุงเทพฯ ตอนกลางคืนออกจะเย็นๆด้วยซ้ำ ตอนแรกที่นั่งรถมาก็นึกว่าไม่ไกลมาก แต่ตอนเดินกลับสิครับ ทำเอาแทบหมดแรงกันไปเลย แล้วเนื่องจากไฟฟ้าที่เมืองเชียงตุงค่อนข้างมีอย่างจำกัด ไฟจะเปิดตอน ๖ โมงถึง ๔ ทุ่มเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามตามบ้านเรือนต่างๆก็ไม่ค่อยใช้ไฟกันเท่าไหร่ ดังนั้นพวกเราจึงต้องเดินกลับที่พักท่ามกลางความมืด ตอนนั้นก็เริ่มหิวขึ้นมาอีกเพราะออกแรงเดินกันเยอะ แต่ความหวังช่างเลือนลางเพราะร้านค้าต่างปิดประตูปิดไฟกันหมด แต่เหมือนโชคดีที่เดินมาซักพักก็พลันเห็นร้านค้าเล็กๆยังจุดเทียนอยู่ คนขายเป็นคุณยายท่าทางใจดี แกขายอาหารของคนไทยใหญ่ รสชาติคล้ายๆโจ๊กบ้านเรา ราคาชามละ ๓๐๐ จั๊ด หรือประมาณ ๙ บาท พี่ตุ๊กยังต่อยายแกเหลือ ๒๐๐ จั๊ด ซึ่งยายแกก็ให้ แต่ไม่รู้แกจะนึกว่าเราเอาชามเล็กหรือเปล่าสิ เมื่อท้องอิ่มก็ได้เวลาเดินกลับที่พักนอนเอาแรงสำหรับวันรุ่งขึ้น
๑๓ เมษายน ๒๕๕๑ วันสงกรานต์
เช้า นี้เราเริ่มอาหารเช้าด้วยก๋วยเตี๋ยวของเกสเฮ้าท์ เพราะราคาห้องที่นี่รวมอาหารเช้าด้วย ต่อจากนั้นจึงได้เวลาเดินตลาดกัน สำหรับตลาดเช้าหรือที่นี่เรียกว่า กาดเช้า จะมีอยู่หลายที่ ถ้าเป็นตลาดใหญ่จะอยู่ในเมืองเรียกว่ากาดหลวง แต่ที่วันนี้เราจะไปกันคือกาดเช้าที่ขายกันอยู่หน้าเกสเฮ้าท์นี่เอง ของที่ขายส่วนใหญ่เป็นอาหารสด ดอกไม้สำหรับบูชาพระ หรือไม่ก็เป็นอาหารเช้าพวก โรตี หรือไม่ก็ขนมต่างๆ เราเดินเที่ยวกันเรื่อยๆ มุ่งหน้าเข้าเมือง บ้านเมืองสองข้างทางส่วนใหญ่เป็นเรือนแถวเก่าแก่ มีทั้งที่เป็นเรือนไม้ และเป็นแบบกึ่งไม้กึ่งปูน สภาพโดยทั่วไปก็เหมือนกับที่มักมีคนกล่าวไว้ว่าเหมือนกับเมืองไทยเมื่อเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว ซึ่งก็ไม่เกินความเป็นจริงนัก