เชียงตุง
ชื่อ "เชียงตุง" ในแผนที่ภาษาอังกฤษเขียนเป็น KENG - TUNG
เพราะเขียนตามเสียงไทใหญ่ ซึ่งใช้ "เก็ง" แทน "เชียง" เช่น "เชียงใหม่"
จะเรียกเป็น "เก็งเหม่อ - อ" เป็นต้น ส่วนชาวไทเขินเรียก "เชียงตุง" เป็น
"เจ็งตุ๋ง" เจ้าสายเมือง มังราย ในหนังสือของท่าน จึงแก้คำว่า KENGTUNG
มาเป็น JENGTUNG ตามเสียงไทเขินในชื่อ "เชียงตุง" คำว่า "เชียง" หมายถึงเมืองซึ่งรวมทั้ง "เวียง" และบริเวณรอบ ๆ ส่วนคำว่า "ตุง" นั้นมาจากชื่อฤษีองค์ที่ตำนานเมืองเชียงตุงจารึกว่าเป็นผู้สร้างเมืองเชียง ตุง เรื่องนิทานดึกดำบรรพ์มีอยู่ว่า สมัยโบราณน้ำท่วมเมืองเชียงตุงจนชาวบ้านอยู่ไม่ได้ ต้องหนีขึ้นดอยหมด ตอนหลังมีโอรสเจ้าฟ้าว้อง (จักรพรรดิเมืองจีน) องค์หนึ่งมาใช้อภินิหารไม้เท้าของพระองค์ ขีดพื้นดินให้กลายเป็นร่องน้ำ ระบายน้ำจากหนองไป ทีแรกขีดลงทางทิศใต้ น้ำไม่ไหลออก ครั้งที่สองต้องขีดพื้นทิศเหนือแล้วต่อสายน้ำเข้าแม่น้ำโขง น้ำถึงจะไหล การที่แม่น้ำไหลขึ้นเหนือ จึงมีชื่อว่า แม่น้ำขึน ส่วนบริเวณหนองเดิม จึงมีชื่อว่า "หนองตุง" และเมืองตุงคบุรี หรือ เชียงตุง (ก็ตั้ง) ตามชื่อของตุงคฤษี ผู้สร้างเมืองเชียงตุง"
เชียงตุง อุษาคเนย์ “ ซ้ายสิบนาฬิกา ”
“ ดินแดนซ้ายสิบนาฬิกา ” ตามภาษาทหาร อันเป็นที่ตั้งของรัฐฉาน ( Shan State ) ประเทศสหภาพพม่า รัฐที่มีชนชาวไทหรือไต ชนชาติไทดั้งเดิมอย่างเช่น ไทใหญ่ ไทขึน ไทลื้อ และอีกหลายเผ่าไท อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในพม่าโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง “ เชียงตุง ” อีกหนึ่งในดินแดนแห่ง “ อุษาคเนย์ ” หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันหมายรวมถึงดินแดนในหลายประเทศประกอบรวมกันอยู่ระหว่างประเทศจีนกับ อินเดีย
พม่าเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอีกหนึ่งความใฝ่ฝัน ที่เฝ้ารอโอกาสไปเยือนให้ได้สักครั้งหนึ่ง แล้วโอกาสก็มาถึง “ เชียงตุง ” คือเป้าหมายการเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ เมืองเชียงตุงได้ชื่อว่าเป็นเมือง 3 จอม 7 เชียง 9 หนอง 12 ประตู ..อัน มีความหมายถึงเมืองที่มีภูเขาสูงล้อมรอบอยู่ 3 จอม มีชุมชนดั้งเดิมชาวไทขึนที่ขึ้นต้นด้วยเชียงอยู่ 7 เชียง มีหนองน้ำหล่อเลี้ยงให้ความอุดมสมบูรณ์อยู่ 7 หนอง และมีประตูเมืองทั้งหมด 12 ประตู (เท่าที่เห็นปัจจุบันเหลือเพียง 1 หนอง 2 ประตู) รวมกันเป็นแว่นแคว้นที่เรียกว่า “ เขมรัฐตุงคบุรี
เชียงตุงเป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่กลางหุบเขาบนความสูงประมาณ 800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เวลาที่นี่จะช้ากว่าเมืองไทย 30 นาที ประชากรส่วนใหญ่ เป็นชาวไทขึน หรือ ไทเขิน “ ชนชาวไท ” ที่รู้จักกันดีมานานแล้วจากงานศิลปหัตถกรรมเก่าแก่ระดับคลาสสิก ที่คนไทยเราเรียก “ เครื่องเขิน ” ชนเผ่าไทที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำขึน สายน้ำสาขาของแม่น้ำโขง จึงเรียกชนเผ่าไทกลุ่มนี้ว่า “ ชาวไทขึน ” เชียงตุงเป็นเมืองเล็กก็จริงแต่กลับมากมายด้วยวัดวา ตั้งเรียงรายกันอยู่ทั่วเมืองในลักษณะที่เรียกว่า “ วัดชนวัด ” สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีต และลักษณะนิสัยของชาวไทหรือไตที่ชอบการทำบุญทาน
เมืองเชียงตุงเคยเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี กองทัพไทยยกทัพขึ้นมายึดเชียงตุงจากอังกฤษ แล้วประกาศให้เป็นจังหวัดหนึ่งของไทยชื่อ “ แคว้นสหรัฐไทยเดิม ” ได้จัดระบบการปกครองและจัดการการศึกษาเสียใหม่ให้เป็นแบบเดียวกับเมือง ไทยอยู่ได้ราว 3 ปี ซึ่งในช่วงเวลานี้ชาวเชียงตุงบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นก็หมดไปพร้อมกับไทยซึ่งอยู่ในฝ่ายประเทศผู้แพ้ สงคราม จึงจำต้องคืนเชียงตุงให้อังกฤษไปผนวกรวมดินแดนเป็นของสหภาพพม่า ตั้งแต่นั้นมาชาวเชียงตุงจึงมีฐานะเป็นแค่พลเมืองชั้นสองที่ถูกจำกัดสิทธิ ทางการเมืองการปกครอง รัฐบาลพม่าเข้ามาปกครองอย่างเข้มงวดมีกฎเกณฑ์มากมายมาควบคุม จะอพยพโยกย้ายถิ่นฐานออกนอกเขตเมืองเชียงตุงไปไม่ได้ต้องอยู่ที่นี่ตลอดไป และถูกปิดตายมานานกว่า 50 ปี ท่ามกลางกระแสการกลืนกินชนชาติ จารีตประเพณี และวัฒนธรรมของพม่า จนเมื่อรัฐบาลพม่ายอมเปิดตัวเมืองเชียงตุงออกสู่สายตาชาวโลกเมื่อไม่กี่ปี ที่ผ่านมา กลับยังคงพบเห็นว่าชาวไทขึนเชียงตุงรักษาเอกลักษณ์ ความเป็นชนชาติไทดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี
วัดในเชียงตุง
วัดพระเจ้าหลวงหรือวัดเจ้าหลวง วัดพระแก้ว วัดหัวโข่งหรือหัวข่วง วัดทั้งสามนี้ห่างกันเพียงแค่ถนนกั้นไว้ ใครมาเชียงตุงหากคิดจะเที่ยวชมวัดให้ครบเห็นจะต้องใช้เวลากันหลายวัน เพราะเชียงตุงมีวัดอยู่มากกว่า 30 วัดขึ้นไป ดังนั้นการมาเชียงตุงจึงเป็นเรื่องของการมาศึกษาเที่ยวชมสถาปัตยกรรมและ ประติมากรรมตามวัดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกามตอนปลาย ผสมกับศิลปะสมัยกรุงมัณฑเลย์ จนเรียกได้ว่าเป็นศิลปะคู่บ้านคู่เมืองเชียงตุง
หนองตุง
“ หนองตุง ” หนึ่งใน 9 หนองใหญ่ ที่คงเหลืออยู่เพียงหนองน้ำเดียว หล่อเลี้ยงให้ความอุดมสมบูรณ์แก่เมืองเชียงตุงแต่ครั้งกาลก่อนจนถึงปัจจุบัน ตามตำนานเก่าแก่กว่า 800 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำขึน มีพระดาบสรูปหนึ่งนาม “ ตุงคฤาษี ” ได้แสดงกฤดาภินิหารอธิษฐานให้น้ำไหลออกไป คงไว้แต่หนองน้ำใหญ่กลางใจเมือง จึงตั้งชื่อหนองตุงตามชื่อดาบสรูปนี้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ เชียงตุง ” หรือ “ เขมรัฐตุงคบุรี ” มีความหมายว่าเมืองแห่งตุงคฤาษีอาณาประชาราษฎร์มีแต่ความเกษมสำราญ