สถานี่วิทยุออนไลน์ เสียงจากพวกเราชาวเชียงตุง

เจอกันทุกวันตั้งแต่เวลา ๒๐.๐๐ น. เป็นต้นไปนะครับ....

Try Relay: the free SMS and picture text app for iPhone.

พม่า หรือ เมียนมาร์ หรือ เบอร์ม่า

พม่า หรือ เมียนมาร์ หรือ เบอร์ม่า ?..
สุทธิชัย หยุ่น :
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
14 กรกฎาคม 2555


 มีคนถามผมว่า ผมเรียก “พม่า” หรือ “เมียนม่าร์” หรือ  “เบอร์ม่า” เพราะเห็นเขาถกแถลงกันอย่างร้อนแรงในประเทศของเขา ..

ออง ซาน ซูจี แกนนำฝ่ายค้านที่เพิ่งไปปรากฏตัวในรัฐสภาในฐานะ ส.ส. เป็นครั้งแรก หลังจากต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมากว่า 24 ปี ถูกขอร้อง เรียกร้อง และกดดันจากฝ่ายรัฐบาลพม่าให้เรียกประเทศของเธอว่า Myanmar ไม่ใช่ Burma

แต่เธอประกาศอย่างชัดเจนว่า “ดิฉันจะเรียกประเทศของดิฉันว่า Burma ต่อไป รัฐบาลจะเรียก Myanmar ก็เรียกไป...”

ถือเป็นความขัดแย้งประเด็นหนึ่งที่ยังไม่อาจจะ “ปรองดอง” กันได้ ระหว่างฝ่ายมีอำนาจทางการเมืองกับฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ที่บัดนี้ได้ก้าวเข้าไปสู่ฐานแห่งอำนาจทางการเมืองระดับชาติแล้ว

รัฐธรรมนูญพม่าที่ออกประกาศใช้เมื่อปี 2008 ระบุไว้เด็ดขาดว่า ประเทศนี้มีชื่อว่า “เมียนมาร์” มิใช่ “เบอร์ม่า”

ที่แล้วมาการต่อสู้กับเรื่องชื่อของประเทศเป็นสัญลักษณ์แห่งการเผชิญหน้า ระหว่างอำนาจเก่าของทหาร กับกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอด

แต่เมื่อวันนี้เกิดความปรองดอง และทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะนั่งลงหาทางออกร่วมกัน สามารถแก้ไขข้อขัดแย้งเดิมไปหลายประเด็นแล้ว แต่เรื่องชื่อประเทศยังเป็นเรื่องที่มิอาจจะหาข้อยุติได้

ชื่อ Myanmar นั้น เป็นที่เรียกขานกันมาช้านาน แปลตรงจากสำเนียงของคนพม่าเองเรียกชื่อประเทศตัวเอง และย้อนไปยาวนานถึงเมื่อศตวรรษที่ 12 ด้วยซ้ำไป

แต่เมื่ออังกฤษมาปกครองพม่าช่วงปี 1885 ถึงปี 1948 ชื่อทางการก็เปลี่ยนไปเป็น Burma คำว่า Burma มาจากเสียงพม่าของคำว่า Bamar ซึ่งก็เป็นที่มาของคำว่า “พม่า” ในภาษาไทยเช่นกัน

สำหรับคนพม่าจำนวนไม่น้อย คำว่า Burma มีร่องรอยของอำนาจจักรวรรดินิยม นั่นคือ การที่อังกฤษมาปกครองยาวนานและบังคับให้ต้องเรียกประเทศของตนด้วยชื่อที่ ลิ้นฝรั่งเคยชิน มากกว่าที่จะเรียกขานด้วยชื่อที่คุ้นเคยสำหรับคนพม่าเอง

แต่ภาวะที่แปลกมาตลอดก็คือว่า แม้คนพม่าจำนวนมากจะเรียกประเทศตัวเองว่า “เมียนมาร์” แต่ชื่อทางการของประเทศในฐานะเป็นสมาชิกสหประชาชาติและในเวทีระหว่างประเทศ ก็ยังเป็นชื่อ Union of Burma และหลังปี 1974 ก็ปรับเปลี่ยนเป็น Socialist Republic of Burma เพราะเผด็จการทหารในยุคนั้นต้องการจะเรียกตัวเองว่าเป็นสาธารณรัฐที่ใช้ระบบ สังคมนิยม เพราะมีสหายเป็นจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และ ค่ายคอมมิวนิสต์ อื่นๆ

ผู้นำทหารให้เปลี่ยนจาก Burma เป็น Myanmar อย่างเป็นทางการก็เมื่อปี 1989

ที่ทำให้ชื่อนี้เป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ของคนที่ต่อต้านเผด็จการทหาร ก็เพราะว่าชื่อ Myanmar ถูกประกาศให้ใช้หนึ่งปีหลังการปราบปรามผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างโหดเหี้ยม คำว่า Myanmar ในขณะนั้นจึงถูกตราตรึงกับยี่ห้อของเผด็จการทหาร

และในช่วงเวลาเดียวกันนั่นเอง ผู้นำทหารพม่าก็สั่งให้เปลี่ยนชื่อเมืองและสถานที่สำคัญให้อ่านออกเสียงแบบ พม่าทั้งหมด ทิ้งร่องรอยของชื่อเก่าที่อังกฤษมาตั้งเอาไว้ให้แต่ก่อนเก่า เพื่อที่จะสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นการประกาศอิสรภาพจากอิทธิพลที่หลงเหลือจาก ยุคประวัติศาสตร์

เช่น เมืองหลวง Rangoon ก็เปลี่ยนเป็น Yangon หรือ Moulmein ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลหลักของพม่า ก็ให้เรียกใหม่เป็น Mawlamyine

แน่นอนว่า พม่าไม่ใช่ประเทศเดียวที่ปรับเปลี่ยนชื่อเมืองสำคัญๆ กลับไปเป็นชื่อเดิมเพื่อประกาศศักดาแห่งความเป็นตัวของตัวเอง ต่างประเทศก็มี เช่นเมือง Bombay ของอินเดีย ก็เรียกเสียใหม่ว่าเป็น Mumbai

ความจริงคำว่า Burma มีปัญหาอยู่ในตัวเองมาช้านาน เพราะสะท้อนว่าคนเผ่าหลักคือ Burmans เป็นเจ้าของประเทศทั้งหมด ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วประเทศนี้มีชาติพันธุ์หลักอย่างน้อย 8 กลุ่ม และชนกลุ่มน้อยต่างๆ อีกเป็นร้อย

คนเผ่า Burman มีประมาณ 37 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 55 ล้าน และแม้ว่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของทั้งหมดแต่เพียงกลุ่มเดียว

ปัญหาพม่าถึงวันนี้ก็ยังคือการที่ชาติพันธุ์ต่างๆ  ไม่ยอมมาอยู่ใต้การปกครองของคนเผ่าเบอร์มันแต่เพียงกลุ่มเดียว

นักเขียนพม่าคนหนึ่งให้ความเห็นในบทความตีพิมพ์ในนิวยอร์กไทมส์ วันก่อนว่าเขาพยายามจะใช้ทั้งสองชื่อ แต่ถ้าเจอสถานการณ์กระอักกระอ่วนจริงๆ ก็จะใช้คำว่า “ประเทศของเรา” แทนในยามสนทนากับเพื่อนร่วมชาติ

เพราะไม่ต้องการจะต่อล้อต่อเถียงกับเพื่อนร่วมชาติในขณะที่ทุกคนต้องการความปรองดอง

ผมก็จึงเรียกประเทศนี้ว่า “พม่า” กับคนไทย เรียก “Burma” เพราะเคยชินกับคำเก่าและตั้งใจใช้ Myanmar เมื่อต้องสัมภาษณ์คนอย่างเป็นทางการ

แม้ว่าจะปรองดองด้วยการผสมกลมกลืนเป็น “เมียนพม่า” ก็ยังฟังดูแปลกๆ ชอบกล ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น